หน้าหลัก ---> กระดาน โชว์พระเครื่อง ---> ข้อสังเกตุ รูปหล่อหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน

Total 7 Record : 1 Page : 1

james lk ข้อสังเกตุ รูปหล่อหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน

ส่งข้อความ
               พระรูปหล่อโบราณหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน นับเป็นพระในตำนานของหลวงพ่อเขียนที่จัดว่าหายากมาก ๆ นาน ๆ จะได้พบตัวจริง เสียงจริงสักครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมา เมื่อเจอพระรูปหล่อหลวงพ่อเขียนที่ไม่มีโค๊ตหล่อใต้ฐานก็จะตีเป็นพิมพ์จุลกฐินทันที ทั้งที่ พระองค์นั้นอาจจะเป็น ข5 ไม่มีโค๊ต ลืมปั๊มโค๊ต หรือช่างตัดช่อชิดฐานจนโค๊ตหายไปก็ได้   
                ด้วยความปรารถนาดีจากใจของ เจมส์  lk กระทู้นี้จึงขอนำเสนอเอกลักษณ์บางประการที่สามารถพบเห็นได้ในพระพิมพ์นี้ และเพื่อเป็นแนวทางในการเก็บสะสมของคนรุ่นหลังต่อไป การให้ข้อมูลครั้งนี้อาจจะสร้างความสงสัย สร้างประเด็นความขัดแย้งในเชิงข้อมูลของพระรุ่นนี้ และบางท่านอาจจะไม่เห็นด้วย ในการออกมาให้ข้อมูลในลักษณะแบบนี้ของผม ท้ายที่สุดผมเองอาจจะโดนประณามจะผู้ที่รู้ข้อมูลจริง ต้อนรับปีใหม่ก็ได้ จะอย่างไรก็ตามการให้ข้อมูลครั้งนี้ ผมไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝงแต่อย่างใด นอกจากอยากเดินตามความฝันที่ปรารถนาอยากให้นักสะสม ที่ศรัทธาในบารมีของหลวงพ่อเขียน ได้เก็บสะสมพระแท้ ได้รับข้อมูลที่แท้จริง และเดินไปในทิศทางเดียวกัน ตลอดจน อยากให้มีการแลกเปลี่ยนแนวความคิด ข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลจากคำบอกเล่า หรือโชว์พระที่มีในรัง ที่เชื่อว่าเป็นพิมพ์จุลกฐิน เพื่อให้ข้อมูลต่าง ๆ เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย       
               ความเห็นส่วนตัวเท่าที่ผมได้ศึกษามา พระรูปหล่อโบราณหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน ที่นิยมเล่นหากันแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ
                  ลักษณะที่ 1 พระที่นายช่างติดช่อชิดที่มุมของฐานพระ การยุบตัวของโลหะใต้ฐานพระ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ส่วนตัวผมมองว่าพระลักษณะแบบนี้เป็นพระที่ดูง่ายไร้ข้อกังขา เท่าที่ผ่านตามามีทั้งหมด 5 องค์
              องค์แรกที่ผมได้ยลโฉมและถือเป็นองค์ครู คือ พระของท่านสิทธิ์พยุหะ เป็นพระที่มีลักษณะสมบูรณ์มาก นายช่างไม่ได้ตัดช่อออกจากฐานพระ กระแสโลหะเข้มถึงยุค โลหะเนื้อแน่นปึกจนแทบไม่มีเม็ดทองให้เห็นตามซอก ซึ่งตรงจุดนี้จะแตกต่างจากพิมพ์ ข5 โดยสิ้นเชิง การยุบตัวของโลหะใต้ฐานพระ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ ที่หน้าของหลวงพ่อมีเส้นแตกวิ่งจากหน้า ลงมาสังฆาฏิ ผ่านแขน ลงมาที่หน้าฐาน เส้นดังกล่าวเกิดจากแรงดันของโลหะที่มีความร้อนสูง ซึ่งแรงดันของโลหะขณะที่มีความร้อนสูงนั้น สามารถทำให้เบ้าดินเกิดรอยแตก รอยแยกได้ และเกิดเป็นเส้นแตกดังกล่าว เส้นแตกในพระหล่อโบราณเกิดขึ้นได้กับทุกรุ่น ทุกพิมพ์ครับ ขึ้นอยู่กับการความประณีตของนายช่างตอนที่นำดินเบ้าโอบหุ่นเทียน และความแข็งแรงของการทำเบ้าดิน ซึ่งโดยปกติเมื่อนายช่างใช้ดินผสมขี้ควายโอบหุ่นเทียนเสร็จหนึ่งชั้น นายช่างจะใช้ลวดพันรอบเบ้าดิน เพื่อยึดให้เบ้าดินให้แข็งแรง และนำดินโอบอีกครั้ง หรือหลายครั้งแล้วแต่ขนาดของช่อหุ่นเทียน   
             องค์ที่สองเป็นพระของอาจารย์อ้วน พิจิตร เป็นพระสภาพใช้จนหน้าตาแทบไม่เหลือ แต่ยังคงมีเอกลักษณ์ ที่ใต้ฐานดังเช่นพระของท่านสิทธิ์พยุหะ คือ การยุบตัวของโลหะใต้ฐานพระ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเช่นเดียวกัน กระแสโลหะเข้มขลัง เนื้อหาออกเหลืองอมเขียว และโลหะเนื้อแน่นปึกจนแทบไม่มีเม็ดทองให้เห็นตามซอก
             องค์ที่สาม เป็นพระของท่านsoodlor ที่เคยนำมาสอบถาม ส่วนองค์ที่สี่ก็เป็นของสมาชิกท่านหนึ่งจำชื่อไม่ได้ ซึ่งเคยนำภาพพระมาลงสอบถาม แต่น่าเสียดายที่ภาพพระไม่ได้เก็บไว้ พระทั้งสององค์นี้เป็นพระสภาพใช้มีสภาพใกล้เคียงกับพระของอาจารย์อ้วน แต่มีเอกลักษณ์ที่ใต้ฐานเหมือนกัน คือ การยุบตัวของโลหะใต้ฐานพระ มีลักษณะเป็นแอ่งกระทะเช่นเดียวกัน
             องค์ที่ห้า เป็นพระที่ผมนิมนต์มาจากท่านหมอเมืองขอน ซึ่งตอนแรกพระองค์นี้ตีเป็นพระพิมพ์ ข5 ไม่มีโค๊ต แต่ในสายผมกลับมองว่าเป็นพระที่กระแสโลหะเข้มขลังแตกต่างจาก ข 5 โดยปกติ ผมจึงขอแบ่งจากท่านหมอ เมืองขอน มาเพื่อศึกษา เมื่อพบองค์จริงแล้วทำให้แน่ใจว่า องค์นี้ไม่ใช่ พิมพ์ ข5 แต่เป็นพิมพ์จุลกฐิน ผมจึงได้เริ่มหาข้อมูล เพื่อสนับสนุนแนวความคิด หรือหักล้างแนวคิด และได้สอบถามจากท่านผู้รู้ จนได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่า องค์นี้คือ พิมพ์จุลกฐิน
   
           ลักษณะที่ 2 พระที่นายช่างติดช่อตรงกลางของฐานพระ หรือ นายช่างตัดช่อชิดฐาน ใต้ฐานพระอาจจะเห็นช่อบ้าง ไม่เห็นช่อบ้าง มีรอยตะไบชนิดหยาบบ้าง ชนิดละเอียดบ้าง หรือลื่นบ้าง เจอแบบนี้ตัวใครตัวมันครับ สุดปัญญาที่จะช่วยจริง ๆ ส่วนตัวผมมองว่าพระลักษณะแบบนี้เป็นพระที่จะต้องพิจารณาเนื้อหาจากองค์จริงเท่านั้น เนื่องจากพระลักษณะนี้ อาจจะเป็นพิมพ์จุลกฐิน หรือ พิมพ์ ข5 ไม่มีโค๊ต ก็ได้ ผมไม่สามารถแยกพิมพ์ได้ เพราะพิมพ์ ข5 ส5 100ปี และจุลกฐิน มีพิมพ์และขนาดใกล้เคียงกันอย่างมาก ต่างกันที่โค๊ตใต้ฐาน วิธีเดียวที่จะสามารถพิจารณาได้อย่างสนิทใจคือต้องดูจากองค์จริง เพื่อพิจารณากระแสโลหะเท่านั้น
            การนำเสนอข้อมูลครั้งนี้เป็นการนำเอาประสบการณ์ส่วนตัวของผมเอง เล่าให้สมาชิกได้ทราบ อาจจะไม่ตรงกับอาจารย์บางท่านก็ขออภัยนะครับ ข้อมูลประวัติอาจจะคลาดเคลื่อนก็ขออภัยครับ เช่นกัน จุดประสงค์เพียงแค่อยากนำเสนอพระพิมพ์จุลกฐินแท้ๆ ว่ามีกี่ลักษณะเท่านั้นนะครับ ทั้งนี้ พระอาจจะมีลักษณะแตกต่างมากกว่าที่ผมนำเสนอก็ได้ หากผมพบก็จะนำมาเสนออีกครั้ง
            อนึ่ง สมาชิกกรุณาอย่าฟันธงว่าพระที่ไม่มีตำหนิหรือผิวพรรณตามที่บอกเก๊นะครับ เพราะตำหนิของพระหล่อโบราณจะมีอยู่หรือหายไปนั้น ล้วนขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยหลายประการ นับตั้งแต่การปั้นหุ่นเทียน การหล่อ การแต่งองค์พระ การใช้พระคล่องหรือพกติดตัว การเก็บรักษา การล้าง ฯลฯ ดังนั้น การจะพิจารณาพระแท้หรือพระเก๊ได้นั้น ขอให้ใช้ประสบการณ์และความรู้เรื่องพระหล่อโบราณมาใช้หลักประกอบการพิจารณาครับ ขอขอบคุณอาจารย์ลิขิลร่ม ที่ให้ข้อมูล และภาพพระของท่านสิทธิ์พยุหะ และอาจารย์อ้วนพิจิตร  ณ ที่นี้ด้วย 
     

ข้อสังเกตุ รูปหล่อหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน
ข้อสังเกตุ รูปหล่อหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน
ข้อสังเกตุ รูปหล่อหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน
ข้อสังเกตุ รูปหล่อหลวงพ่อเขียน พิมพ์จุลกฐิน
โดย  james lk วันที่ 2012-01-20 22:13:12 
 
1.  

ส่งข้อความ





โดย  james lk วันที่ 2012-01-20 22:14:32 
 
2.  

ส่งข้อความ





โดย  james lk วันที่ 2012-01-20 22:14:51 
 
3.  

ส่งข้อความ





โดย  james lk วันที่ 2012-01-20 22:15:36 
 
4.  

ส่งข้อความ
เยี่ยมมากครับ




โดย  บีวัดพร้าว วันที่ 2012-01-22 10:57:26 
 
5.  

ส่งข้อความ
เยี่ยมครับ 




โดย  เล็กบางกอก วันที่ 2012-01-25 09:04:03 
 
6.  

ส่งข้อความ





โดย  ดำรงค์3K วันที่ 2012-01-25 09:58:40 
 
7.  

ส่งข้อความ

ขอบคุณครับคุณเจมส์ เยี่ยมเสมอครับ ปรมาจารย์สายหลวงพ่อเขียนครับ






โดย  kriang33 วันที่ 2012-01-29 21:03:36 
 

Total 7 Record : 1 Page : 1